top of page

หลวงพ่อปาน(พระครูพิพัฒนิโรธกิจ)

วัดปานประสิทธาราม(วัดปีกกา)

ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ชีวประวัติ

ประวัติของหลวงพ่อปาน อันเป็นที่เคารพนับถือเหนือชีวิตจิตใจของชาวคลองด่านทุกวันนี้ ท่านเป็นพระอาจารย์ชื่อดังที่ใครๆก็รู้จักในปฏิปทาของเป็นเป็นอย่างดี ท่านเกิดที่ ต.บางเหี้ย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2368 ในรัชการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่3) มีโยมบิดาชื่อหนูจีน โยมมารดาชื่อตาล หลวงพ่อปานมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน5คนคือ

คนที่1 ชื่อนายเทพย์

คนที่ 2 ชื่อนายทัต

คนที่ 3 ชื่อนายปาน (หลวงพ่อปาน)

คนที่ 4 ชื่อนายจันทร์

คนที่ 5 ชื่อนางแจ่ม

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า  “หนูเทพย์
 

เหตุที่ชื่อว่าบางเหี้ย

บรรพบุรุษของหลวงพ่อปานอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งกรุงแตกเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) มาตั้งรกรากอยู่บริเวณบ้านสนามเรือนหรือที่เรียกกันว่าหมู่บ้านโคกเศรษฐี เพราะพวกที่อพยพมาครั้งนั้นล้วนเป็นพวกเศรษฐีทั้งสิ้น แต่เติมบริเวณนี้ยังเป็นป่ารก มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านป่าดงพงพีนี้ออกมาทะเลที่บางเหี้ย และในทุกครั้งที่น้ำทะเลขึ้น น้ำเค็มจะทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่อาศัยปลูกบ้านเรือนอยู่ในแถบนั้น ต้องได้รับความลำบากอยู่เป็นเนืองนิตย์ เขตที่น้ำทะเลกับน้ำจืดมาพบกันนี้ มีทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำชุกชุมมาก สัตว์ที่มีมากเป็นพิเศษอาศัย ปู ปลาเป็นอาหารคือ “ตัวเหี้ย” ต่อมาชาวบ้านต้องทำประตูน้ำกันน้ำทะเลไว้ เพื่อมิให้น้ำเค็มขึ้นไปปนกับน้ำจืดและเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานที่มีอยู่ชุกชุมมิให้แพร่หลายไปตามลำคลองต่างๆอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางเหี้ย” และตั้งชื่อแม่น้ำว่า “แม่น้ำบางเหี้ย”  เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานที่ดังกล่าว

และยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในบรรดาเศรษฐีที่อพยพมาในครั้งนั้นมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งมีบุตรเป็นที่รักสุดสวาทขาดใจ เขารักและตามใจลูกมาก ได้คิดเอาทองคำมาทำเป็นรูปตัวเหี้ยขนาดเด็กขึ้นไปนั่งขี่เล่นขึ้นให้ลูกลากเล่นเป็นที่สนุกสนานสำราญใจ ข่าวนี้ได้ลือไปต่อๆกันไปถึงตัวเหี้ยทองคำที่ลูกเศรษฐีลากเล่น ตำบลนี้จึงเรียกกันติดปากว่า “ตำบลบางเหี้ย”

วัดบางเหี้ยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วัดคือ วัดบางเหี้ยนอก (วัดมงคลโคธาวาส) กับวัดบางเหี้ยใน (วัดโคธาราม) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางเหี้ยทั้ง 2 แห่ง เพราะชาวบ้านตั้งเรือนอยู่ริมน้ำ ตลอดแนวทั้ง 2 ฝั่งและต้องอยู่ห่างกันเป็นระยะๆ

การศึกษาขึ้นต้นของหลวงพ่อ

โยมบิดามารดา ได้พาไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณศรีศากสุนทร เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) จ.ธนบุรี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดแจ้งมาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและเมืออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแจ้งนั่นเอง โดยมีท่านเจ้าคุณ ศรีศากยมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อหลวงพ่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัย กับท่านเจ้าคุณผู้เป็นพระอุปัชฌาย์หลายปี และท่านมีความสนใจในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก เพราะกรรมฐานเป็นธรรมพิเศษของพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องซักฟอก และถ่ายถอนความคิดเห็นที่ผิดของตน อันเป็นพื้นเพของจิตที่มีเชื้อวัฏฏะ จมอยู่ภายในให้สูญหายไปและให้คงมีแต่พระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อยู่ในจิตใจเท่านั้น

 

กลับสู่บ้านเกิด

หลังจากศึกษาในเรื่องกรรมฐานจนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อก็ได้กราบลาสมเด็จพระศรีศากยมุนีผู้เป็นทั้งพระอาจารย์และเจ้าอาวาสวัดแจ้ง เดินทางกลับบ้านมายังวัดบางเหี้ยนอกอันเป็นบ้านเกิด ในการกลับมาครั้งนี้ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อหลวงพ่อเรือน ได้ติดตามมาอยู่กับท่านด้วยซึ่งหลวงพ่อปานกับหลวงพ่อเรือนนี้ท่านชอบไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ

เมื่อมาอยู่ที่วัดบางเหี้ยนอกแล้ว หลวงพ่อปานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลพระภิกษุสงฆ์ในวัดซึ่งเจ้าอาวาสในขณะนั้นคือ หลวงพ่อถัน ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ดูแลพระเณร ด้วยการให้ดูแลในการปฏิบัติและการศึกษา โดยมีพระอาจารย์อิ่ม เป็นผู้ช่วย

หลวงพ่อปาน ได้ปกครอบพระเณรลูกวัดโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปฏิบัติท่านจะอบรมสั่งสอนการปฏิบัติกรรมฐานให้แก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนประชาชนพุทธบริษัท ให้รู้จักการนั่งสมาธิเจริญภาวนา เป็นประจำทุกวันมิได้ขาด และตัวท่านเองก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจนพระเณรต้องเคารพยำเกรงท่านเป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ทรงโปรดฯ

เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2452 ประตูน้ำที่กันแม่น้ำบางเหี้ยหรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า “ประตูน้ำชลหารพิจิต” หรือที่เรียกกันโดยทั่วๆไปว่าประตูน้ำคลองด่าน ปิดน้ำไม่อยู่ แม้นายช่างผู้ชำนาญจะซ่อมสร้างสักเท่าใด ประตูน้ำก็ยังชำรุดอยู่ทุกๆปี จนกระทั่งข้าราชการในท้องถิ่นแห่งนั้นได้ปรึกษากันและได้นำความขึ้นไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้ทรงทราบ และขอให้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมเพื่อขอพึ่งพระบารมีของพระองค์ท่าน

เพราะในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีเดชานุภาพมาก เมื่อพระองค์ท่านเสด็จไป ณ ที่ใด ณ ที่แห่งนั้นจะเป็นที่มีความเจริญทั้งเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกร และสถานที่เป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงทราบความที่ข้าราชการใหญ่น้อยกราบบังคมทูลเช่นนั้น พระองค์จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณรับที่จะเสด็จไปตามความประสงค์ของพสกนิกร

นับได้ว่าประตูน้ำชลหารพิจิตรในทุกวันนี้ เป็นประตูน้ำที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น เพราะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทางชลมารค มาประทับอยู่ถึง 3 วัน และสิ่งที่ชาวบางเหี้ยทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นก็คือ พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม ตำบลบางเหี้ย เป็นตำบลคลองด่าน และเปลี่ยนชื่อแม่น้ำบางเหี้ยเป็นแม่น้ำคลองด่าน และเปลี่ยนจากอำเภอบางเหี้ยมาเป็น อำเภอบางบ่อ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ชาวบางเหี้ยได้เป็นชาวคลองด่านตราบเท่าทุกวันนี้ และนับว่าเป็นโชคอันดีที่พระองค์ทรงพระกรุณาธิคุณ พระราชทานนามด้วยพระองค์เอง โดยพสกนิกรมิได้ทูลขอแต่ประการใด ซึ่งสมควรที่ชนรุ่นหลังควรระลึกนึกถึงและภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในตำบลบางเหี้ย ได้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอดีต อันอนุชนรุ่นหลัง ควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไว้ตลอดไปชั่วกาลนาน

ประวัติวัดบางเหี้ยนอก (วัดมงคลโคธาวาส)

ตามทะเบียนประวัติของกรมการศาสนาได้ระบุไว้ว่า วัดบางเหี้ยนอกนั้นได้สร้างขั้นในปี พ.ศ.2300 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นราชธานีซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ได้เสด็จมาดูประตูกั้นน้ำในแม่น้ำบางเหี้ยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2452 นั้น พระองค์พระราชชื่อเพื่อเป็นมงคลแก่ชาวบางเหี้ยว่า “คลองด่าน” แล้วพระองค์ยังได้พระราชทานนามวัดบางเหี้ยนอกให้ใหม่ว่า  “วัดมงคลโคธาวาส” และในครั้งนั้น พระองค์ยังได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม และโปรดประทานสมณศักดิ์ถวายให้หลวงพ่อปานว่า “พระครูพิพัฒนิโรธกิจ” เพราะพระองค์ท่านชื่อในความสามารถของหลวงพ่อปานว่า เป็นพระเกจิอาจารย์ที่หาผู้ใดเปรียบได้ยากในสมัยนั้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงเรื่องราวอภินิหารของท่านในตอนหลัง

 

ลำดับพระอาจารย์ดัง

ในวัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ยนอก) นี้ได้เป็นที่จำพรรษาของเกจิอาจารย์ชื่อดังอยู่หลายรูปด้วยกัน เช่นในสมัยของหลวงพ่อถัน ซึ่งเป็นคนบ้านคลองนางโหง ต.คลองด่าน ได้บวชอยู่วัดบางเหี้ยนอกจนได้เป็นสมภารเจ้าอาวาส ท่านได้บันทึกไว้ว่า ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ยนอก) แห่งนี้ มีอาจารย์ที่เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิอยู่หลายรูปเช่น

  1. หลวงพ่อปาน (พระครูพิพัฒนิโรธกิจ)

  2. หลวงพ่อเรือน (เคยเป็นพระอุปัชฌาย์ที่วัดนี้)

  3. หลวงพ่อล่า (เป็นหมอผี และหมอทำน้ำมนต์)

  4. พระอาจารย์อิ่ม (อาจารย์สอนกรรมฐาน และเป็นอาจารย์สอนธุดงค์แก่พระภิกษุสามเณร ที่ประสงค์จะออกป่า)

  5. หลวงพ่อทอง (พระครูสุทธิรัตน์)

  6. หลวงพ่อลาว (มรณภาพไม่เน่าเปื่อย)

  7. พระอาจารย์บัว

  8. พระสมุห์นิ่ม (สมัยยังเป็นสามเณร)

สอนธรรมกรรมฐาน

หลวงพ่อปานท่านมักจะแนะนำข้อธรรมต่างๆ ให้แก่พระเณรลูกวัดไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน นับว่าท่านเป็นพระอาจารย์ที่เฉลียวฉลาดเกิดกว่าคนทั่วๆไปจะพึงมี คือบางวันท่านก็ให้พระเณรได้ศึกษาถึงข้อธรรมที่มีชื่อว่าขันธ์ 5 คือ

1 รูป

2 เวทนา

3 สัญญา

4 สังขาร

5 วิญญาณ

ในขันธ์ 5 นี้ ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นกายนี้เรียกว่า รูป

ความรู้สึกอารมณ์ ว่าเป็นสุข คือสบายการ สบายใจ หรือเป็นทุกข์คือไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ คือไม่ทุกข์ ไม่สุข เรียกว่าเวทนา

ความจำได้หมายรู้ คือจำรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้เรียกว่า สัญญา

เจตสิกธรรม  คืออารมณ์ที่เกิดกับใจเป็นส่วนดี เรียกว่ากุศล เป็นส่วนชั่วเรียกว่าอกุศล เป็นส่วนกลางๆ เรียกว่า อัพยากฤต เรียก สังขาร

และความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อมีรูปมากระทบตา เป็นต้น เรียกว่าวิญญาณ ซึ่งขันทั้ง 5 นี้ บางที่ย่นย่อเป็น 2 เรียกว่า นามและรูป

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูปที่หลวงพ่อปานมักจะให้พระเณรได้นำมาพิจารณากันอยู่เสมอ และให้พิจารณาถึง ธาตุกรรมฐาน 4 อย่างด้วยกัน คือ

ธาตุดิน เรียกว่าปฐวีธาตุ

ธาตุน้ำ  เรียกว่าอาโปธาตุ

ธาตุไฟ เรียกว่าเตโชธาตุ

ธาตุลม เรียกว่าวาโยธาตุ

 

ธาตุอันใดมีลักษณะเข้มแข็ง ธาตุนั้นเป็น ปฐวีธาตุ ซึ่งปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายในคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

ส่วนธาตุอันใดที่มีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็น เตโชธาตุ ซึ่งเตโชธาตุนั้นที่เป็นภายในคือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังให้ทรุดโทรม และไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารให้ย่อย

ธาตุอันใดที่มีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ ซึ่งวาโยธาตุนั้นที่เป็นภายในคือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว และลมหายใจ

ซึ่งการกำหนดการพิจารณากายนี้ให้เห็นแต่เพียงว่าธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่าธาตุกรรมฐาน

หลวงพ่อปานได้อธิบายถึงธาตุกรรมฐานว่า ไม่ว่าจะใช้เวทมนต์คาถา เพื่อประกอบในพิธีกรรมต่างๆก็ตาม พึงกระทำธาตุในกายเราให้มีกำลังโดยสมบูรณ์ก่อน ซึ่งเมื่อธาตุในกายเราปกติสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้กำลังและกระแสจิตทวีความรุนแรงขึ้น

ล่อเสือขึ้นจากน้ำ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จมาประทับอยู่ประตูน้ำบางเหี้ยเป็นเวลา 3 วันนั้น พระองค์ได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้า เพื่อไต่ถามในเรื่องต่างๆ ขณะนี้หลวงพ่อปานเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้นท่านได้ให้เด็กชายป๊อด ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นเสือรูปไปด้วย ซึ่งสมัยนั้นเป็นเขี้ยวเสือจริงๆ เมือไปถึงที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กชายป๊อดที่ถือติดตามท่านไปแต่เด็กชายป๊อดตอบว่า “เสือไม่มีแล้ว” เพราะมันกระโดดน้ำไปในระหว่างทางจนหมดแล้ว

หลวงพ่อปานจึงให้เอาหมูที่ทำขึ้นจากดินเหนียว แล้วเสียบกับไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากหน้าพระพักตร์ จนพระองค์ถึงกับตรัสว่า “พอแล้วหลวงตา”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เสือของหลวงพ่อปานก็เป็นที่เลื่องลือกันในสมัยนั้นมาก และเป็นของอันล้ำค่าหาได้ยากมากในสมัยปัจจุบันนี้ เพราะท่านได้สร้างจากเขี้ยวเสือจริงๆ และสร้างไว้น้อยมาก เมื่อใครได้ก็ไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมี จึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก เขี้ยวเสือกลวง เป็นของวิเศษประเภททนสิทธิ์ เช่นเดียวกับเขี้ยวหมูตัน ท่านโบราณาจารย์นิยมเอาเขี้ยวเสือกลวงมาลงอักขระ เลขยันต์และหัวใจพุทธอาคม ใช้เป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่ง มีอานุภาพคงกระพัน มหาอุด และใช้ทางมหาอำนาจ โดยอานิสงส์ที่ว่า เสือเป็นเจ้าแห่งป่ามีเดชมาก สัตว์น้อยใหญ่พอได้ยินเสียงเสือคำรามจะเกิดอาการครั่นคราม ตัวสั่นงันงกและป่าจะสงบเงียบลง ยิ่งไปกว่านั้น ท่านนิยมเอาเขี้ยวเสือแกะของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยนอก(วัดมงคลโคธาราม) ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

รูปลักษณะของเสือหลวงพ่อปานนั้นดูละม้ายคล้ายๆกันคือเป็นเสือนั่งชันเข่า มีทั้งอ้าปากและหุบปาก ดวงตาทำเป็นวงกลม ที่ใต้ฐานส่วนมากจะลงเป็นตัว “เฑาะ” ขมวดหัวขมวดหาง แต่โดยที่ใต้ฐานจะมีรูเพราะแกะด้วยเขี้ยวเสือกลวง พื้นที่หน้าตัดจึงมีขนาดเล็ก จึงลงขมวดๆซ้อนกัน นิยมกันว่า “นะกอหญ้า” นอกจากนั้นที่ใต้คาง ที่ขา และตามลำตัวจะลงเป็นตัวเลขไทย

การหาเสือหลวงปู่ปานในปัจจุบัน อาศัยการกินพิจารณารูปลักษณะและศิลปะการแกะของช่างและความเก่าของเขี้ยวเสือเป็นส่วนใหญ่

ให้พระท่านไปก่อนแล้วฟ้าจะตามไป

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเลิกทาส และเป็นนักปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่เข้าถึงประชาชน โดยพระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนดูและทุกข์สุขของราษฏรตามหัวเมืองด้วยพระองค์เอง ดังเช่นที่พระองค์เสด็จมาถึงบ้านบางเหี้ยแห่งนี้ พระองค์ก็เป็นห่วงเป็นใยในความทุกข์ของประชาชนจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาราษฏร์ เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จกลับมายังเมืองหลวง พระองค์ได้ตรัสรับสั่งกับหลวงพ่อปานประโยคหนึ่งว่า

“ให้พระไปก่อน แล้วฟ้าจะตามไปทีหลัง”

พระราชดำรัสของพระองค์นับเป็นคำรับสั่งที่เข้าใจยาก คือทั้งหลวงพ่อปานเองและสานุศิษย์ที่ได้ฟังพระองค์ท่านตรัสในวันนั้น เพราะไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งนั่นเอง จนกระทั่งพระองค์ท่านเสด็จกลับจากประตูน้ำบางเหี้ยไม่นานนัก หลวงพ่อปานก็ถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) และเมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพลงไม่นานถึงปี พระองค์ท่านก็เสด็จประชวรสวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ร.ศ. 129 (พ.ศ.2453)

ฉะนั้น คำที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตรัสไว้ว่า “ให้พระไปก่อนแล้วฟ้าจะตามไปทีหลัง” นั้น พระองค์ท่านคงหมายถึงการละสังขารของหลวงพ่อปานก่อน แล้วพระองค์จะละสังขารตามไปทีหลัง โดยพระองค์คงจะทรงทราบด้วยญาณของพระองค์เองว่า หลวงพ่อปานและพระองค์ท่าน คงถึงเวลาที่จะเสด็จจะละสังขารได้แล้ว พระองค์ท่านจึงตรัสไว้ก่อน

การสูญเสียองค์ประมุขในครั้งนั้น พสกนิกรทั่วทั้งประเทศมีความโศกเศร้าอาลัยเป็นอย่างมาก เพระพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณมิรู้ลืมเลย

 

ย้ายศพพบคาถาดี

เมื่อหลวงพ่อปานได้มรณภาพลงโดยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ศ.ก.129 (พ.ศ.2453) ตรงกับวันอังคารที่ แรม 9 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ เวลา 5 ทุ่ม 45 นาที สิริอายุรวม 86 ปี พรรษา 65 ที่วัดมงคลโคธาราม (วัดบางเหี้ยนอก) ต.คลองด่านนั่นเอง ซึ่งยังความเศร้าโศกและเสียใจ แก่สานุศิษย์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ศพของหลวงพ่อปานนั้นได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดมงคลโคธาวาส ตั้งศพวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ศก 130 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2453 และพระราชทานเพลิงศพวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2453

เมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพใหม่ๆ คือเพิ่งจะตั้งศพได้คืนเดียวพอคืนที่ 2 นายนาค หรือปู่นาค เผือกวัฒนะ ที่ชาวบ้านเรียกกันเพราะเป็นหลานที่สนิทของหลวงปู่ปาน อดีตเคยเป็นกำนันตำบลบางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) ซึ่งมีอายุ 88 ปี ในขณะเปิดเผยเรื่องราวของหลวงพ่อปาน ให้พระผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาสในสมัยหนึ่งฟัง

โดยปู่นาคได้เปิดเผยเรื่องราวให้ฟังว่า ปู่นาคเป็นหลานแท้ๆของหลวงพ่อปาน และได้เจ้าภาพในงานศพด้วย แต่ที่ไม่ได้มาถึงวันที่ 2 ของการตั้งศพและได้เห็นการตั้งศพเครื่องตั้งไม่เหมาะสม คือมีต้นเสาพิงหีบศพ ปู่นาคจึงย้ายเครื่องตั้งศพใหม่ ขณะที่ย้ายหีบศพของหลวงพ่อปานนั้น ต้นเสาที่หีบศพพิงอยู่ ปู่นาคเห็นเป็นรูกลมๆ และมีเศษกระดาษม้วนอยู่ในรูนั้น และเมื่อหยิบขึ้นมาดูก็พบข้อความซึ่งเป็นคาถาเขียนด้วยลายมืออย่างชัดเจน

ข้อความในแผนกระดาษใบนั้นมีฝอยบอกไว้ข้างล่างว่า “เสกน้ำประพรมขายของ” ซึ่งปู่นาคเล่าว่าเขาจำได้ว่า ทั้งหมดเป็นลายมือของหลวงพ่อปานเอง จึงเก็บรักษาแผ่นกระดาษที่มีคาถาอยู่นั้นว่า

พระคาถาที่ว่าเสกน้ำประพรมขายของ มีดังนี้คือ

“นะชาลิเต สังฆาลิเต นะชาลิติ สังฆาลิติ พะสีราชา สัพเพชะนา พะหูชะนา”

พระคาถาทั้งหมดนี้ เป็นของหลวงพ่อปาน ถ้าหากท่านใดมีความสนใจจะนำไปท่องบ่นไปใช้บ้าง ปู่นาคบอกว่ายินดีให้เพราะสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ชนส่วนรวมก็ยินดี

วาจาสิทธิ์

สมัยที่หลวงพ่อปานยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านมีความเมตตาปราณีและมีวาจาสิทธิ์จนเป็นที่เคารพยำเกรงแก่ประชาชนทั่วไปในละแวกนั้นเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเลงเล่นหวย ก.ข.สมัยนั้นถึงกับมาขอร้องร้องต่อหลวงพ่อ แต่แล้วนักเลงหวย ก.ข.ก็ร่ำรวยกันไปตามๆกัน

บรรดาลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือคฤหัสถ์ ต่างก็ต้องปฏิบัติตนอยู่ในคุณงามความดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะกลัวหลวงพ่อจะว่าตนไม่ดี  แล้วจะไม่ดีตามคำพูดหลวงพ่อ  เนื่องจากท่านมีวาจาสิทธิ์นั่นเอง ถ้าผู้ใดถูกหลวงพ่อเอ่ยปากว่าชั่วแล้ว  บุคคลผู้นั้นเหมือนมีกรรมถูกสาป คือจะทำอะไรก็จะไม่ดีไปตลอดชีวิต หลวงพ่อปานจึงสำรวมระวังในคำพูดของท่าน ซึ่งเมื่อไม่จำเป็นจริงๆแล้ว หลวงพ่อไม่เคยดุว่าใครให้เสียหายเลย มีแต่พูดว่า “ดี” อย่างเดียว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดีไปตามที่ท่านพูด นับว่าท่านเป็นพระอาจารย์ผู้มีพรหมวิหารธรรมโดยสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง

รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อปานซึ่งท่านชอบออกเดินธุดงควัตร ถือเป็นกิจวัตรประจำ ซึ่งท่านถือปฏิบัติมาทุกๆปี และในปีนั้นก็เช่นเดียวกัน ได้มีพระภิกษุจากวัดต่างๆ ได้มาร่วมกันที่วัดบางเหี้ยนอก (วัดมงคลโคธาวาส) เพื่อออกเดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อปาน ในปีหนึ่งๆ จะมีพระเณรพากันมารวมกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่หลวงพ่อปานเป็นพระผู้อาวุโสที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ในย่านนั้น กอปรกับท่านมี “เจโตปริยญาณ” คือรู้วารจิตของผู้อื่น ไม่ว่าใครจะพูดลับหลังท่านอย่างไร ท่านรู้หมด

นอกจากนั้น ท่านยังมี “อนาคตังสญาณ” คือสามารถรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ใครจะเป็นอะไรในอนาคตท่านรู้หมด แต่ท่านไม่บอกตรงๆ เพราะท่านกลัวว่าจะเสียใจ

อย่างเช่นคราวนี้เช่นกัน ท่านเตรียมตัวจะออกเดินธุดงค์ไปพักที่ จ.ชลบุรี ซึ่งตามธรรมดาพระที่จะตามหลวงพ่อปานไป ก่อนออกเดินทางจะต้องเข้ามาหาหลวงพ่อ เพื่อรายงานตัวก่อนทุกๆ องค์ ถ้าหลวงพ่อโบกมือให้ไปจึงจะออกเดินทางได้ ถ้าท่านบอกไม่ให้ไป ก็ไม่ได้ไป และในครั้งนั้นมีพระอยู่องค์หนึ่งชื่อพระผิว หลวงพ่อปานได้เรียกเข้ามาหา แล้วท่านก็บอกว่า “คุณเก็บบาตร เก็บกลด กลับวัดไปเถอะน่ะ” เมื่อพระผิวได้ยินหลวงพ่อพูดเช่นนั้น ก็มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร เพราะน้อยใจในวาสนาของตัวเองที่จะตามหลวงพอไปด้วยไม่ได้ หลวงพ่อปานจึงกล่าวกะพระผิวอีกว่า “อย่าไปเสียใจไปเลยคุณ กลับวัดไปเถอะ เดินทางไปกลับหลวงพ่อมันลำบากมาก องค์อื่นๆที่ท่านไปด้วยท่านแข็งแรง หลวงพ่อกลัวคุณลำบาก จึงให้กลับไปก่อน” 

พระผิว เมื่อได้ยินหลวงพ่อพูดเช่นนั้น ก็จำใจกลับเพราะจะดื้อไปกับท่านก็ไม่ได้ เนื่องจากหลวงพ่อสั่งให้กลับไม่มีใครกล้าขัดคำสั่งของท่าน หลังจากพระผิวกลับมาถึงวัดได้ 2 วันเท่านั้น ก็เกิดไข้ทรพิษและได้มรณภาพลงในที่สุด คนทั้งหลายจึงรู้ว่าการที่หลวงพ่อให้พระผิวกลับมานั้น เพราะหลวงพ่อรู้ล่วงหน้าว่าอีก 2 วัน พระผิวก็จะสิ้นชีวิตแล้ว ถ้าไปมรณภาพระหว่างการเดินทางก็จะทำความลำบากให้แก่คนอื่น และใครๆก็จะตำหนิท่านว่าท่านคุ้มครองลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้ จึงปล่อยให้เป็นอันตรายกลางทาง ซึ่งหลวงพ่อปานท่านก็รู้อยู่แก่ใจได้เป็นอย่างดีว่า ความตายนั้นเมื่อถึงวาระก็ต้องตายกันทุกคน ไม่มีใครขอร้องหรือผัดผ่อนความตายเอาไว้ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้หลวงพ่อจึงให้พระผิวกลับมาเสีย เพื่อกันข้อครหาอันจะเกิดขึ้นได้ภายหลัง ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ท่านคิดทุกประการ

ในการออกเดินทางธุดงค์ทุกครั้งก็มีเรื่องที่น่าแปลกใจหลายอย่าง ทั้งในเรื่องอภินิหาร และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย เช่น เวลาที่ท่านออกเดินธุดงค์ก่อนออกเดินทางของหลวงพ่อปาน มักจะให้ลูกศิษย์ออกธุดงค์ล่วงหน้าไปก่อนทุกคราว แต่พอถึงจุดนัดหมาย หลวงพ่อจะต้องไปคอยอยู่ข้างหน้าก่อนเสมอ ทำเอาพระภิกษุเป็นลูกศิษย์มีความอัศจรรย์ใจไปตามๆกัน

หลวงพ่อสอนวิชา

หลวงพ่อปานท่านเป็นพระที่ดุเอาการ (คำว่าดุ ในที่นี้หมายถึงหลวงพ่อเป็นคนเอาจริงเอาจัง เป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย มีจิตใจกล้าหาญ ผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ไม่มีการเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งเลย) กอปรด้วยรูปร่างของท่าน ล่ำสัน ใหญ่โต ใบหน้าสี่เหลี่ยม ตาท่านพองโต ปากหนา เป็นลักษณะของคนโบราณ พูดเสียงดัง คงวิชามาก

เมื่อไปอยู่กับท่าน ก็ได้ศึกษาพระกรรมฐาน ท่านให้นั่งภาวนาพิจารณาธาตุ เพ่งสิ่งต่างๆ เช่น ไฟเทียน น้ำในบาตร ปฐวีธาตุ จนพลังจิตใจแก่กล้า ไม่หวั่นไหวไม่เอนเอียงดีแล้ว ท่านก็ให้ฝึกสมาธิด้วยการให้เดินจงกรม การเดินจงกรมนี้ ท่านพระครูโกศล (ปาสาธิโก) ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนอกองค์หนึ่งเล่าให้ฟังว่า

“ปกติหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนอกนี้ ท่านห่มจีวรต่ำ เวลาเดินชายจีวรนั้นจะเรี่ยดินไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ทางเดินจงกรมของหลวงพ่อปานจึงเตียนโล่ง แม้กิ่งใบหญ้าก็จะถูกกวาดเลี่ยนเตียนไปเลย”

เมื่อได้ฝึกจิตจนได้ที่ควรแก่การดำเนินการแล้ว หลวงพ่อปานจะสอนวิชาเคล็ดลับต่างๆ ให้ มีทั้งอยู่ยงคงกะพัน เมตตามหานิยม และวิชาคุณไสยสาสตร์ต่างๆ ที่เรียนนี้ก็เพื่อรู้ เรียนไว้เพื่อแก้ และสุดท้ายเรียนไว้เพื่อป้องกัน สิ่งหลังนี้แหละสำคัญมากในสมัยนั้น

หินวิเศษ

หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนอก ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีวิชาอาคมตลอดถึงทางด้านจิต สามารถสร้างฤทธิ์ให้ปรากฏแก่สายตาของญาติโยมได้เสมอ คุณวิเศษของหลวงพ่อปานได้เล่าต่อกันมาว่า

หลวงพ่อปาน ท่านเป็นพระนักเดินธุดงค์ ชอบไปป่าหาความวิเวกมุ่งปฏิบัติธรรมโดยลำพังเสมอถ้ามีโอกาสแต่โดยส่วนรวมแล้วท่านจะมีพระภิกษุสามเณรติดตามกันออกบำเพ็ญธรรมอยู่ประจำเช่นเดียวกัน 

การเดินธุดงค์กรรมฐานของหลวงพ่อปานนี้เอง ท่านไปได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า “หินวิเศษ”

หินวิเศษ เป็นวัตถุสีเขียวแววมาก โดยขนาดเท่าเมล็ดถั่วดำและข้างๆของหินวิเศษนี้มีเต่าหิน ที่ถูกสลักมาจากหินทราย สีออกน้ำตาลแดงเล็กน้อย หลวงพ่อปานรู้ด้วยวาระจิต และนิมิตที่จะได้มาซึ่งสิ่งนี้ก่อนออกเดินธุดงค์ด้วยซ้ำไป ภายหลังนั้นท่านได้นำกลับมาไว้ที่วัดบางเหี้ยนอก (วัดมงคลโคธาวาส) ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 

ความลับในศาล

ท่านพระครูโกศล (ปาสาธิโก) ได้เล่าให้ฟังว่า ของวิเศษนั้น หลวงพ่อปานไม่เคยเปิดเผยอะไรกับใครเลย ท่านได้นำไปไว้ยังศาลที่ปลูกไว้ภายในบริเวณเขตวัดสมัยก่อนวัดโบราณ มักจะมีศาลเพียงตาที่เจ้าอาวาสท่านนำเอาพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ และเป็นพระพุทธรูปศิลาที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย นอกจากนี้ศาลเพียงตาบางแห่ง บางวัด ยังเป็นที่สิงสถิตของเทพเทวดาที่รักษาอารามต่างๆ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขหลวงพ่อปานท่านก็ได้นำเต่าวิเศษที่สลักมาจากศิลาทรายมาไว้ที่ศาลเพียงตา ใครไปมาหรือจะมากราบไหว้พระพุทธรูปในศาลเพียงตาก็มักจะเห็นเต่าศิลาตัวนั้น บางคราวกลับหายไป แต่ก็ไม่มีใครสนใจไปกว่าได้กราบหลวงพ่อปานในศาลเท่านั้นเป็นพอใจ พระเต่าหินนั้นเป็นเพียงวัตถุธรรมดา เป็นที่น่าสังเกตทุกครั้งที่เต่าหายไป ก็จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลวงพ่อปานหายไปด้วยทุกคนเข้าใจว่าหลวงพ่อปาน คงไปธุดงค์ในป่า แต่ถ้าธุดงค์ทำไมจึงต้องนำเต่าหินนั้นไปด้วยเล่า มันทั้งหนักและยากแก่การรักษาดูแล ต่อมาอีกสองวันหลวงพ่อปานกลับมายังวัด เต่าหินหินตัวนั้นก็มาวางไว้ที่เก่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่สงสัยของสามเณรน้อยองค์หนึ่ง สามเณรน้อยองค์นี้คอยดูพฤติกรรมของเต่าศิลาตัวนี้ว่ามันหายไปไหน ใครพามันไปทั้งๆที่หนักแทบแย่

 

เต่าหินบินได้

สามเณรน้อยองค์นี้ มีความมานะพยายามเป็นอย่างยิ่ง ท่านคอยซ่อนตัวแอบดูพฤติการณ์ของเต่าหินที่มีนัยน์ตาเป็นหินสีเขียวแวววาวสดใสทั้งสองข้าง ซึ่งหลวงพ่อปานท่านได้พอพร้อมกัน และเมื่อนำหินสีเขียวใส่ลงไปตรงจุดดวงตาของเต่าหินก็เข้ากินสนิทดี ท่านจึงนำมาประกอบให้ครบถ้วนและนำมาไว้ที่ศาล

ความมานะพยายามของสามเณร ก็หาได้พ้นความเป็นผู้มีปัญญาของพระอาจารย์ไปได้ไม่ หลวงพ่อปานท่านรู้แล้วว่า สามเณรองค์นี้เกิดความสงสัยที่เต่าหินหายไปพร้อมกับท่าน ท่านจึงแอบมาดูสติปัญญาของสามเณรน้อยอย่างเงียบๆ

ส่วนสามเณรก็เห็นความประหลาดมหัศจรรย์ก็ตอนเดือนดับอันเป็นวันข้างแรม พอมืดค่ำลงหน่อย บ้านบางเหี้ยก็ตกอยู่ในความ จะมีแสงตะเกียงน้ำมันก๊าดวอมแวมพอเห็นแสงบ้าง แต่ส่วนมากจะดับไฟพักผ่อนหลับนอนกันหมดสิ้ ทันใดนั้น สามเณรน้อยต้องตกตะลึงตัวชาอยู่กับที่ เพราะภาพเบื้องหน้าของท่านนั้น เต่าหินกำลังเคลื่อนไหว คลานออกจากที่ จากนั้นเต่าหินได้แสดงความอัศจรรย์ลอยไปในอากาศเรียกว่าเต่าหินเหาะก็ไม่ผิดหายลับไป สามเณรพยายามข่มตาไม่ยอมหลับนอน ทนไว้เพื่อจะได้ดูตอนที่เต่าหินจะกลับมาที่เก่าหรือไม่ เวลาล่วงไปเกือบย่ำรุ่ง ประมาณตี 4 สามเณรน้อยก็ต้องอัศจรรย์ใจอีกครั้งหนึ่งคือ เต่าหินดวงตาสีเขียวสดใสนั้นได้เหาะกลับมา แล้วคลานเข้าไปอยู่ที่เดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามเณรเดินกลับไปจับพลิกเต่าหินดูก็ไม่มีอะไรผิดปรกติ เป็นหินที่เขาสลักมาจากหินทรายธรรมดา ๆ ถ้าไม่ใช่ของกายสิทธิ์ ก็คงจะคลานแล้วเหาะไปในอากาศไม่ได้แน่นอน

เกาะนี้อยู่ที่ไหน

หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนอก ท่านได้แอบดูสามเณรน้อยที่เป็นศิษย์ของท่านอยู่หลายวัน คือท่านลองดูความมานะอดทนตลอดถึงไหวพริบปัญญาจะสามารถคลายความสงสัยและเอาตัวรอดได้อย่างไรผ่านสามเณรน้อยก็หาได้รู้ว่า บัดนี้อาจารย์ของตนกำลังแอบดูตนอยู่เพราะมัวแต่มองดูพฤติการณ์ของเต่าหิน สองทุ่มของบ้านบางเหี้ยสมัยก่อน ก็นับว่าดึกโขอยู่แล้ว สามเณรน้อยได้เฝ้ามองดูเต่าหินกำลังจะหายไปด้วยการทำตัวลอยขึ้นไปเหาะไปเวลาตี 4 ก็จะกลับมาอยู่ที่เก่าทุกๆ วันแรม 15 ค่ำ ในที่สุดคราวนี้สามเณรน้อย ท่านคอยเฝ้าอย่างทะมัดทะแมงเตรียมตัวที่จะไปผจญภัยกับเต่าหินตัวนี้ให้จงได้

เมื่อได้เวลา เต่าหินนัยน์ตาสีเขียวสดใสได้ค่อยๆคลานลงมาจากที่แล้วตรงไปที่ลานพื้นดินก่อนลอยตัวขึ้น สามเณรน้อยได้ปราดออกมาจากที่ซ่อนกระโดดกอดเต่าหินตัวเขื่องไว้แน่น เต่าหินค่อยๆลอยขึ้นจากนั้นก็เหาะไปในอากาศ สามเณรน้อยกอดไว้แน่นเพราะเกรงว่าจะตกลงไปเบื้องล่าง ในที่สุดก็มาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งสามเณรก็ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่แห่งใด อยู่มุมใดของโลก มองไปรอบๆตัว ก็พบกับแสงสว่างเย็นตาน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก

 

เป็นจริงมิใช่ฝัน

เต่าหินค่อยๆลอยต่ำลง เมื่อถึงพื้นดินแล้วก็ตรงไปยังป่าไผ่ไปหาหน่อไม้กิน หล่อแล้วหน่อเล่า เต่ากินเข้าไปอย่างไม่รู้จักอิ่ม สามเณรมองเห็นหน่อไผ่ใกล้ๆตัว ก็พยายามเอามือข้างซ้ายจะหักหน่อไม้มาดูเป็นที่ระลึก และจะได้เป็นสักขีพยานของตัวเองให้หายสงสัยว่า นี่เรามาอยู่บนเกาะแห่งนี้มิได้ฝันไปแต่อย่างใด แต่เป็นการมาพร้อมกับเต่าหินจริงๆ เต่าหินกินหน่อไม้ไผ่ไปเป็นทาง สามเณรก็ไม่กล้าลงจากหลังเต่าเพราะเกรงจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ในที่สุดมือซ้ายก็ได้รั้งหักหน่อไม้ได้มาหน่อหนึ่งกำไว้แน่น เต่าหินกินไปแล้วไม่รู้กี่สิบหน่อจนได้เวลาก็เหาะกลับทันที แต่ขณะเดินทางกลับมาสามเณรน้อยไม่สามารถจดจำทางได้เลย เมื่อมาถึงบริเวณเดิม สามเณรน้อยองค์นั้นก็ถือหน่อไม้กลับเข้าไปกุฏิ ส่วนเต่าหินก็ไปประจำที่ของมัน

 

ถอดตาวิเศษ

หลวงพ่อปานท่านพิจารณาดูจนถ้วนทั่วแล้ว เรื่องความลับที่ท่านไปได้เต่าศิลา กับดวงตาเป็นหินสีเขียวนี้ ไม่เป็นความลับอีกต่อไป หลวงพ่อปานจึงออกจากที่ซ่อน ตรงไปยังศิลาเต่าตัวนั้นแล้วแกะเอาดวงตาวิเศษอันเป็นหินสีเขียวสดใสนั้นเก็บเสีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เต่าศิลาที่สลักจากหินทรายซึ่งหลวงพ่อปานได้ไปพบมาจากป่าเมื่อครั้งเดินธุดงค์ก็ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้อีกต่อไป ปัจจุบันเต่าหินตัวนี้ยังปรากฏอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียง ส่วนตาวิเศษนั้น เข้าใจว่าหลวงพ่อปานได้ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไปแล้ว เพราะสิ่งของอันวิเศษนี้บุคคลธรรมดาๆไม่สามารถรักษาไว้ได้ นอกจากผู้มีวาสนาบารมี เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน พระองค์จะทรงรักษาไว้ได้ ลักษณะหินสีเขียวสดใสนี้ พระครูโกศล(ปาสาธิโก)ได้เล่าให้ฟังว่าเป็นลักษณะยาวรีๆเล็กน้อย โตเท่าเมล็ดถั่วดำ สีสันงดงามแวววาวดั่งเพชรน้ำเอก

 

ลองดีก็เจอดี

คราวหนึ่งหลวงพ่อปานได้เดินธุดงค์ ไปทางจังหวัดปราจีนบุรีท่านได้ไปถึงวัดโพธิ์ศรี พอไปถึงวัด เจ้าอาวาสวัดนั้นกำลังขึงกลองเพลอยู่ เมื่อท่านเห็นเข้าก็ลงมือช่วยเหลือทันที พอเสร็จเรียบร้อยแล้วสมภารวัดก็นิมนต์ให้หลวงพ่อปานขึ้นไปบนกุฏิ ขณะที่คุยกันอยู่นั้นมือของสมภารก็ปั้นลูกดินกลมๆอยู่ในมือ สักครู่หนึ่งท่านสมภพก็โยนลูกดินที่ปั้นอยู่นั้นขึ้นไปในอากาศ และได้กลายเป็นม้าตัวหนึ่ง กับตุ๊กตาตัวหนึ่งไล่จับเหยี่ยวอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งหลวงพ่อปานเห็นเข้าก็หัวเราะชอบใจ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร แต่พอหลวงพ่อปานลงจากกุฏิของสมภารแล้ว ท่านได้พูดกับพระในวัดนั้นว่า โดนของดีเข้าให้แล้ว หลวงพ่อปานพูดจบ ท่านจึงหยิบเอาผ้าสังฆาฏิที่พาดบ่าของท่าน ได้กลับกลายเป็นกระต่ายอยู่หลายตัว วิ่งกันอยู่ในลานวัด ซึ่งใครจะไปไล่จับก็จับไม่ได้ เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อหลวงพ่อปาน ท่านจะออกเดินธุดงค์ครั้งใด ท่านจะต้องมุ่งหน้าไปทางอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรีเสมอไป เพราะในท้องถิ่นย่านนั้นเต็มไปด้วยพระอาจารย์ ผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าทั้งนั้น ซึ่งในบางครั้งวิชาอาคมที่ท่านยังมิได้เรียน ก็จะได้เรียนเพิ่มเติมให้สูงขึ้นไปอีก

 

ชีวิตนี้สั้นนัก

อย่างไรก็ตาม คำบอกเล่าของคุณวิเศษของหลวงพ่อปานท่านมีมากนัก ท่านพระครูโกศล(ปาสาธิโก) ท่านเล่าให้ฟังดังนี้

หลวงพ่อปานท่านเก่งในเรื่องจิต ท่านแสดงฤทธิ์มากมาย เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีญาติโยมนับถือมาก ท่านได้เคยเล่าสรรพคุณที่เต่าหินวิเศษที่พาไปท่านในเมืองลับแล ซึ่งเป็นภพอันซับซ้อนกันอยู่นี้ ได้ไปพบกับสิ่งอัศจรรย์หลายอย่างพอเป็นคติเตือนใจ

ครั้นเมื่อกลับมาจากการท่องเที่ยวในครั้งนั้นแล้ว หลวงพ่อปานก็ได้โหมการปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างหนัก ไม่ปล่อยกาลเวลาให้พ้นไปด้วยท่านตระหนักว่า ชีวิตของท่านนั้นสั้นหนักหนา จะมีเวลาก็ควรตักตวงกำไรอันได้แก่การภาวนา ทำจิตให้สดใสชื่นบานมีกำลังจิต มีกำลังสมาธิมีกำลังปัญญาติดตามตัวไปในภายหน้า อุบายการพิจารณาธรรมของท่านคือ การพิจารณาสภาวธรรมความจริงแห่งวัฏฏะ ให้ได้คืนคลายความเกิด คืนคลายความแก่ คืนคลายความเจ็บ คืนคลายความตาย

 

เพราะใจไปยึด

หลวงพ่อปานท่านมีความเข้าใจอย่างแน่แท้ว่า สรรพสิ่งในโลกนี้สามารถวนเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเวลาก็เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น เหตุทั้งปวงเกิดจากที่จิตที่ปรุงแต่งอยู่ตลอดกาลในอารมณ์ ถ้าได้ระงับดับความวุ่นวายให้ได้แล้ว ย่อมเกิดความสุข และการระงับดับเหตุทั้งปวงก็มิได้ อยู่ที่อื่น แท้จริงแล้วต้องระงับที่ใจเพราะใจเป็นต้นเหตุ แต่ใจเป็นใหญ่ ใจนี้เป็นประธานผู้ระงับ จะได้ผลก็ได้ที่ใจ และถ้าจะเสียผลก็เสียผลที่ใจเท่านั้น

 

ยอดนักปกครอง

ในด้านการปกครองพระเณรลูกวัดของหลวงพ่อปานนั้น ท่านได้ใช้พรหมวิหารธรรมเป็นที่ตั้ง คือ

เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข

กรุณา ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

มุฑิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

อุเบกขา ความวางเฉยไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

ส่วนในด้านการศึกษานั้น ถ้าพระเณรรูปใดประสงค์ที่จะเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดของท่าน ต้องท่องจำทั้ง 7 ตำนาน และ12ตำนานให้ได้เสียก่อน มิเช่นนั้นท่านจะคาดโทษให้อยู่แค่ 3 พรรษา ถ้ายังท่องไม่ได้ก็ให้พิจารณาตัวเองต่อไป การศึกษาของพระภิกษุสามเณรในสมัยนั้น มีศึกษาพระวินัยขันธ์อย่างเดียว คือถือระเบียบวินัยเป็นหลักใหญ่ เพราะหลวงพ่อปานท่านถือเคร่งในพระธรรมวินัยมาก และท่านมีความมุ่งมั่นในทางปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างเดียว คือ การฝึกฝนจิตใจให้มีความสะอาด บริสุทธิ์โดยมุ่งพระนิพพานเป็นที่หมาย เพื่อให้พ้นอบายภูมิอันเป็นวัฏฏะหมุนวนที่ไม่รู้จักจบ หลวงพ่อปานได้เน้นหนักให้พระเณรลูกวัดเดินทางสายปฏิบัติอย่างเคร่งครัดซึ่งในทุกๆปี เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจะนำพระภิกษุสามเณรออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆเป็นประจำ

 

น้ำมนต์หลวงพ่อปาน

ทุกครั้งที่หลวงพ่อปานเดินธุดงค์ผ่านไปตามเส้นทางที่ท่านใช้เดินทางประจำ ชาวบ้านที่อยู่ริมทางจะพากันออกมาขอน้ำมนต์จากท่านตลอดทางซึ่งน้ำมนต์ของท่านได้ทำไว้แล้ว เทใส่กาน้ำ จากนั้นท่านก็หิ้วติดมือมาเมื่อมีใครขอท่านก็เทให้ไป แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่น้ำมนต์ในกาของท่านเพียงน้อยนิด แต่ไม่ยอมหมดสักที ทั้งๆที่ท่านก็เทให้ชาวบ้านไปตลอดทาง จึงเป็นที่อัศจรรย์แก่ชาวบ้านที่พบเห็นยิ่งนัก และน้ำมนต์ของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งถ้าใครได้ไป มีแต่จะประสบกับความเป็นสิริมงคลตลอดทั้งครอบครัว และถ้าใครคลอดลูกยากก็มาขอน้ำมนต์จากท่านเป็นได้คลอดลูกง่ายกว่าปกติ ตามเส้นทางที่ท่านได้ผ่านไปนั้นชาวบ้านได้สงวนไว้เป็นเส้นทางส่วนบุคคล ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ที่ ต.คลองด่าน และบางแห่งก็ได้ถูกสิ่งก่อสร้างกลบเกลื่อนไปบ้างแล้วตามกาลสมัยที่ได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานานปี

 

วัดหลวงพ่อปาน

ด้วยอำนาจบารมีอันสูงยิ่งที่หลวงพ่อปานได้บำเพ็ญมา จึงทำให้ประชาชนมีความศรัทธาไม่เสื่อมคลาย คือไม่ว่าท่านจะไปปักกลดเพื่อบำเพ็ญธรรม ณ ที่ใด เมื่อท่านออกเดินธุดงค์ไปแล้วชาวบ้านก็จะก่อสร้างมูลดินเป็นเจดีย์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า ณ ที่แห่งนี้ คือสถานที่ซึ่งหลวงพ่อปานได้มาปักกลดเพื่อเจริญกรรมฐานมาแล้ว และบางแห่งถึงกับได้ก่อสร้างเป็นวัดขึ้น เช่น วัดศรีจันทราราม วัดสว่างอารมณ์ วัดปานประสิทธาราม วัดสองคลอง วัดหงส์ทอง เป็นต้น

ซึ่งความจริงแล้วหลวงพ่อปาน ท่านมิได้ไปสร้างวัดเหล่านั้นขึ้นมาแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงสถานที่ที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไปและได้อยู่ปฏิบัติธรรมด้วยการปักกลดเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ด้วยความศรัทธาและเลื่อมใสในปฏิปทา กับทั้งข้อวัตรปฏิบัติของท่าน ที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ชาวบ้านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมในกันก่อตั้งวัดเพื่อเป็นการระลึกถึงความมีเมตตาของท่านที่มีต่อสานุศิษย์อย่างสม่ำเสมอจะกระทั่งมรณภาพไปความเป็นพรหมวิหารธรรมของหลวงพ่อปานจึงเป็นอมตะตราบเท่าทุกวันนี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ชื่อของวัดที่ท่านจำพรรษาอยู่คือ วัดมงคลโคธาราม ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กุฏิที่พำนักของท่าน ประชาชนได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ.2517 โดยคงสถานที่และรูปแบบเดิมไว้ อันเป็นที่ที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อปานในปัจจุบันนี้(พ.ศ.2535)

 

รูปหล่อหลวงพ่อปาน

ก่อนหน้าที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อต่างก็มีความคิดเป็นอันเดียวกัน คือพร้อมใจกันหล่อหลวงพ่อปานขั้นมาองค์หนึ่งเท่าๆองค์จริงของท่าน (เพราะปกติหลวงพ่อจะออกเดินธุดงค์ทุกปีใกล้ๆเข้าพรรษาจึงจะกลับวัด ) เนื่องจากหลวงพ่อท่านไม่ค่อยอยู่ประจำวัดนั่นเอง เพราะท่านมักจะออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆเป็นประจำ เมื่อชาวบ้านไปกราบท่านที่วัดก็มักจะผิดหวังเป็นประจำ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนขึ้นแทนตัวหลวงพ่อปาน ซึ่งเมื่อท่านไม่อยู่ก็จะได้กราบรูปหล่อของท่านแทน

แต่เมื่อภายหลังการหล่อรูปเหมือนของท่านขึ้นแล้ว หลวงพ่อก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด โดยท่านจะปลีกตัวไปอยู่ประจำที่พระปฐมคลองด่านซึ่งพระปฐมนี้เป็นอีกที่หนึ่งที่ท่านมาปักกลดอยู่ปฏิบัติธรรมเป็นประจำตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด ไม่ไกลจากวัดของท่านมากนัก

การที่หลวงพ่อปานไม่อยากเข้าไปอยู่ที่วัดของท่านนั้นเป็นเพราะท่านคงรู้วาระจิตล่วงหน้าถึงคราวที่ท่านจะหมดอายุขัยแล้ว แม้ว่าท่านจะรู้แต่ก็ไม่กล้าพูดกับใคร แต่เป็นทำนิมิตอันเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าท่านไม่อยากเข้ามาอยู่ในวัดนั้น เพราะถ้าเข้ามาก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน ชีวิตร่างกายของท่านก็ต้องดับและเสื่อมไป เช่นเดียวกันกับทุกชีวิตของบุคคลอื่นๆ เมื่อญาติโยมมาอ้อนวอนมากๆเข้า ท่านก็พูดเบี่ยงเบนไปว่า เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไป อ้ายดำมันจะเอาตาย คำว่าอ้ายดำ ของหลวงพ่อปานนั้น ก็คือรูปหล่อของท่านเอง และรูปหล่อก็หมายถึงตัวแทนของหลวงพ่อปาน ซึ่งมีรูปหล่อด้วยโลหะที่เป็นตัวแทนแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีชีวิตร่างกายอันเจริญเติบโตด้วยข้าวสุก มีเนื้อปลาเป็นอาหารนับวันมีแต่จะเน่าเปื่อยผุพัง ไม่จีรังยั่งยืน จะต้องทำความโศกเศร้าเสียใจให้แก่คนที่อยู่เบื้องหลัง หลวงพ่อปานจึงพูดบ่ายเบี่ยงไปว่า อ้ายดำมันอยู่ ดังกล่าว ปัจจุบันนี้รูปหล่อของหลวงพ่อปาน ที่ท่านเรียกว่าอ้ายดำนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาสนั่นเอง คืออยู่ที่กุฏิหลวงพ่อปานที่ได้จักบูรณะขึ้นมาใหม่

 

อภินิหารรูปหล่อ

รูปหล่อของหลวงพ่อปานนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับองค์จริงของท่านทีเดียว ผู้มีศรัทธาในตัวท่านไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็เดินทางมากราบไหว้รูปหล่อของท่านมิได้ขาด ซึ่งเรื่องราวความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของรูปหล่อของหลวงพ่อปานนั้นเป็นที่ทราบกันดีของชาวตำบลคลองด่าน และใกล้เคียงตลอดจนคนต่างถิ่นที่อยู่หางไกล บางคนมาอธิษฐานขอน้ำมนต์จากท่านไปรับประทาน เพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยต่างๆ ก็ปรากฏว่าหายดั่งคำอธิษฐาน และบางรายกำลังนอนป่วยอยู่ หลวงพ่อก็ไปเข้าฝันให้ไปเอาน้ำมนต์จากท่านไปรักษาไม่ต้องไปหาหมอที่ไหนก็หาย

ครั้งหนึ่งลูกชายชาวบ้านคลองด่านชื่อนายปรีชาป่วย เขาได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะอาการป่วยหนักมาก เมื่อไปถึงโรงพยาบาลอยู่ถึง 2 วัน แต่หมอก็ยังตรวจอาการไข้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ด้วยความเป็นห่วงในลูกของตน พอนอนตอนกลางคืน เขาได้อธิษฐานจิตถึงหลวงพ่อปานและในคืนนั้นเองเข้าได้ฝันว่าหลวงพ่อปานได้บอกให้เอาน้ำมนต์ของท่านมากิน และให้เขาเอาทองที่ปิดอยู่ริมฝีปากของท่านไปขยี้ที่หน้าผากคนป่วยและให้รับตัวมาบ้านเสียแล้วก็จะหาย นายปรีชาได้ปฏิบัติตามความฝันทุกประการ ปรากฏว่าอาการป่วยของลูกชายที่หนักจนหมอวิเคราะห์โรคไม่ถูกถึงกับปล่อยให้นอนอยู่โรงพยาบาลถึง 2 วันก็มีอาการดีขึ้นและก็ค่อยๆหายจากโรคไปในที่สุด ยังมีอีกหลายรายที่ประสบกับเหตุการณ์อภินิหารของรูปปั้นหลวงพ่อปานองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดมงคลโคธาวาสแห่งนั้นว่ามีอยู่จริงซึ่งแม้แต่พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้นถ้าทำกิจธุระที่วัดแห่งนี้แล้ว เป็นต้องไปกราบนมัสการรูปหล่อของหลวงพ่อปานก่อนเสมอ บางครั้งรูปหล่อของหลวงพ่อปาน ยังไปเข้าฝันเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆให้ไปจุดธูปเทียนบูชาเสมอๆ นับว่าท่านมีความคลังและศักดิ์สิทธิ์ไม่เสื่อมคลายแต่ประการใด เพราะเป็นรูปหล่อที่หล่อขึ้นในสมัยที่หลวงพ่อปานยังมีชีวิตอยู่ จึงถือเป็นรูปหล่อจำลององค์แรกที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดมงคลโคธาวาสจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่ตามวัดต่างๆ นั้นเป็นองค์ที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อจึงคิดจำลองรูปหล่อหลวงพ่อปานวัดมงคลโคธารามไว้หลายๆแห่งเพราะเกิดจากความเคารพเลื่อมใสของประชาชน ซึ่งมีจำนวนมากนั่นเอง แต่รูปแท้และดั้งเดิมคือรูปปั้นที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในทุกวันนี้นั่นเอง

หลวงพ่อปานในสมัยนั้น มิใช่ว่าจะมีอภินิหาร และมีวาจาสิทธิ์อย่างเดียว ท่านยังประกอบด้วยเมตตา แก่ผู้ที่ได้รับทุกข์ต่างๆ ครั้งหนึ่งในสมัยนั้น มีทหารหนีราชการมาอุปสมบทที่วัดหลวงพ่อปานหลายคนด้วยกัน ด้วยความเมตตาแก่ผู้ศรัทธาจะอุปสมบท หลวงพ่อก็จัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของเขา ครั้นอุปสมบทแล้ว ความนั้นก็ทราบถึงกรมทหารฝ่ายกรมทหารก็รายงานมายังคณะสงฆ์ เจ้าคณะมณฑลฝ่ายสงฆ์ จึงเรียกหลวงพ่อปานไปกักขังและสอบสวน เพราะเจ้าคณะมณฑลในสมัยนั้นใช้แทนเจ้าคณะจังหวัดดังเช่นทุกวันนี้

 

ว่าตามความจริงแล้ว จริยาวัตรของพระอุปัชฌาย์นั้น จะต้องอุปสมบทแต่กุลบุตรที่ไม่มีพันธะผูกพัน บุคคลที่หนีราชการมา หนีที่คุมขังมา ย่อมบวชไม่ได้ แต่หลวงพ่อถือว่าบวชเอาบุญ จะเป็นใครก็ตามในเมื่อเขามีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล อยากบวชก็บวชให้ ในครั้งพุทธกาลก็เคยมีโจรองคุลีมาล เป็นโจรฆ่าคนถึงเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคน หลบหนีอาญาแผ่นดินมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ยึดเอาผ้ากาสาวพัสตร์เป็นที่พึ่ง พระบรมศาสดาก็บวชให้ตามความประสงค์ของเขา หลวงพ่อพระครูพิพัฒนิโรธกิจ ได้สมณะศักดิ์จากพระเจ้าอยู่หัว เมื่อบวชคนของพระราชาก็คงไม่เป็นอะไร ขณะที่หลวงพ่อถูกกักขังบริเวณอยู่นั้น ประชาชนก็หลั่งไหลไปเยี่ยมหลวงพ่อปานจนแน่นไปหมด ต่างก็ขอร้องให้ปล่อยหลวงพ่อที่เคารพบูชากลับวัด เจ้าคุณศาสนโสภณ ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลทนทานต่อแขกที่ไปเยี่ยมหลวงพ่อไม่ไหว อีกอย่างหนึ่งหลวงพ่อเป็นพระที่พระราชาอุปถัมภ์จะลงโทษทัณฑ์อย่างใดก็มีความเกรงต่อพระราชา ผลที่สุดต้องปล่อยหลวงพ่อกลับวัด พร้อมกับความยินดีของประชาชนที่เขาได้หลวงพ่อที่รักของเขากลับมา ด้วยคุณความดีของหลวงพ่อที่มีต่อประชาชนชาวตำบลคลองด่านและทั่วๆไป ในภายหลังต่อมา ประชาชนได้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์สำหรับระลึกถึงหลวงพ่อ ในด้านคุณความดีของหลวงพ่อปาน เช่น ถนน ซอย ทุกสายในตำบลคลองด่าน จะตั้งชื่อเป็นชื่อหลวงพ่อปาน ทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้ถนนที่เชื่อมระหว่าง อ.บางบ่อ กับ ต.คลองด่าน ระยะทาง 8 กม. จะชื่อถนนปานวิถี วัดที่สร้างขึ้นมาภายหลัง เช่น วัดปานประสิทธาราม โรงเรียนมัธยมประจำตำบลคลองด่าน ชื่อ โรงเรียนหลวงพ่อปานคลองด่านอนุสรณ์และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของเราชาวคลองด่านก็คือ มูลนิธิพิพัฒนิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน) วัดมงคลโคธาวาสซึ่งจะทำประโยชน์ให้แก่สาธารณสุขต่างๆไปชั่วกาลนาน

bottom of page